วันจันทร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

20th Century Boys เมื่อการเล่นสนุกของ"เพื่อน"นั้นเลยเถิด




หลังจากสังเกตว่า blog เรามันชื่อ learning-anime แต่ดันไม่มีเรื่องอนิเมะหรือการ์ตูนเลยนี่หว่า จึงต้องขอนำเอาหนังฟอร์มยักษ์ที่สร้างมาจากหนังสือการ์ตูนที่กวาดรางวัลมาแล้วหลายรางวัล เช่น

รางวัลการ์ตูนยอดเยี่ยมครั้งที่ 48 จาก โชงะกุกัง
รางวัลชนะเลิศในงาน Media Arts ครั้งที่ 6 ของทบวงวัฒนธรรมญี่ปุ่น
รางวัลการ์ตูนยอดเยี่ยมครั้งที่ 25 จาก โคดันฉะ

ซึ่งการ์ตูนเรื่องที่กล่าวถึงก็คือ "20th Century Boys" ซึ่งเขียนโดยอาจารย์นาโอกิ อุรุซาวา และตีพิมพ์เป็นการ์ตูนในไทยภายใต้ชื่อ "แก๊งค์นี้มีป่วน" นั่นเอง




เรื่องราวย่อๆมีอยู่ว่า




เด็กน้อยกลุ่มหนึ่ง ซึ่งนำโดย เอนโด เคนจิ ได้สร้างฐานทัพลับในทุ่งหญ้าแห่งหนึ่ง และได้มีการสร้างสัญลักษณ์ของกลุ่มและวางแผนการก่อการร้ายขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การใช้อาวุธชีวภาพ และใช้หุ่นยนต์ยักษ์ถล่มเมือง เป็นต้น เพื่อที่ว่าเมื่อโลกตกอยู่ในวิกฤตจนถึงที่สุดแล้ว เหล่ากองกำลังของเคนจิ จะออกมาเพื่อพิทักษ์โลกใบนี้เอง


วันเวลาผ่านไป เหล่าเด็กน้อยที่สนุกสนานกับการคิดแผนการพิทักษ์โลกที่ตนสร้างนั้น ก็ได้เติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ และลืมเรื่องราวนั้นจนหมด จนแล้ววันหนึ่ง แผนการร้ายที่เคยคิดกันนั้น กลับเป็นความจริงขึ้นมา เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสปริศนาทั่วทุกมุมโลก โดยชายที่อ้างชื่อว่า "เพื่อน" ทำให้ผู้คนล้มตายเปนจำนวนมาก เคนจิจึงต้องรวบรวมพรรคพวกในสมัยเด็ก ที่รู้แผนการในครั้งนั้น มาช่วยกันพิทักษ์โลกใบนี้ พร้อมกับหาคำตอบว่า "เพื่อน" คือใครกันแน่




โดยส่วนตัวแล้ว ตัวผมยกย่องอาจารย์นาโอกิ อุราซาวา ผู้เขียนเรื่องนี้มาก เพราะเป็นนักเขียนที่มีพล๊อตเรื่องน่าสนใจ แหวกแนว และดึงดูดให้อ่านจนวางหนังสือไม่ลงเสมอ (ทั้งเรื่อง Monster คนปีศาจ และ Pluto ตามล่านักฆ่าแอนดรอยด์ ก็เช่นเดียวกัน)

ในเรื่อง 20th century boys นี้ ใช้การเล่าเรื่องสลับกันไปมาระหว่าง 3 ยุคสมัย แต่กลับมีความลื่นไหลในการนำเสนอ ค่อยๆคลายปมที่มัดไว้ทีละน้อย พร้อมกับผูกปมใหม่ให้ติดตามไปเรื่อยๆ และมีการแฝงปรัชญาและแนวคิดต่างๆอย่างแยบยล เช่น สิทธิของมนุษย์ที่ควรได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน (จากการเลือกแจกวัคซีนป้องกันภัยแก่คนส่วนน้อยที่ไปร่วมงานของ "เพื่อน" เท่านั้น) หรือการสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นโดยไม่ต้องมีการนองเลือดแต่ใช้ดนตรีในการขับกล่อม(นึกถึงเรื่อง macross 7 ขึ้นมาบ้างไหมครับ)

การ์ตูนเรื่องนี้ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนต์ฟอร์มยักษ์ ภายใต้ชื่อ"20th Century Boys มหาวิบัติ...ดวงตาถล่มล้างโลก" จากการที่เนื้อเรื่องมีความซับซ้อน ตัวละครหลากหลายมากมาย จึงยากที่จะรวบรวมให้กระชับได้ภายในตอนเดียว ทางผู้สร้างจึงต้องสร้างขึ้นมาทั้งหมด 3 ภาคด้วยกัน ด้วยทุนสร้างกว่า 6,000 ล้านเยน (โอ้วแม่เจ้า!!!) มีการถ่ายทำจากสถานที่ต่างๆทั่วโลก รวมทั้ง "ประเทศไทย" ด้วย

ภาพยนต์มีกำหนดเข้าฉายในประเทศไทยวันที่ 20 พฤศจิกายน 2551 ขอแนะนำว่า ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง ทั้งขาประจำจากหนังสือการ์ตูน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งขาจรที่ไม่เคยอ่านการ์ตูนมาก่อน

เพราะคุณไม่มีทางเดาได้ ว่าเรื่องนี้จะจบลงยังไง


วันศุกร์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

แมวกวัก มาเนะกิ เนะโกะ


เคยผ่านตามย่านร้านค้าแล้วเห็นตุ๊กตาแมวยิ้มแป้นแล้น พร้อมกับกวักมือ (หรือเท้าหน้า) อยู่แถวหน้าร้านบ้างไหมครับ

เจ้าเหมียวที่มานั่งกวักมือให้เราๆท่านๆเห็นนั้น มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า "มาเนะกิ เนะโกะ" หรือที่คนไทยเรียกว่า "แมวกวัก" นั่นเอง

คำว่า "มาเนะกิ เนะโกะ" มาจากคำว่า "มาเนะกิ" ที่แปลว่า เชื้อเชิญ กับคำว่า "เนะโกะ" ที่แปลว่า แมว ครับ

ส่วนเหตุที่ว่าทำไมต้องเป็นแมวนั้น เนื่องจากคนญี่ปุ่นเขาเชื่อว่าแมวเป็นสัตว์ที่จะนำโชคลาภมาให้ครับ และมีตำนานที่เกี่ยวกับแมวกวักมากมาย แต่เรื่องที่ขึ้นชื่อที่สุด มีอยู่ว่า

"ในยุคเอโดะ มีหญิงชราคนหนึ่ง ยากจนมาก แต่นางมีแมวเลี้ยงอยู่ตัวหนึ่งและรักแมวมาก มีกินก็กินร่วมกับแมว อดก็อดพร้อมกับแมว จนในที่สุดก็ไม่สามารถเลี้ยงไหว จึงนำไปปล่อย

คืนนั้นเอง นางก็นอนเสียใจร้องไห้ทั้งคืน กระทั่งฝันว่าแมว มาบอกกับนางว่า ให้ปั้นรูปแมวจากดินเหนียวแล้วนางจะโชคดี เช้าวันรุ่งขึ้น หญิงชราจึงตื่นขึ้นมาปั้นแมวจากดินเหนียว ไม่ทันไรก็มีคนแปลกหน้าเดินผ่านหน้าบ้านขอซื้อตุ๊กตาแมวตัวนั้นจากนางไป

จากนั้นนางก็เพียรปั้นแมวขึ้นมาอีกตัวแล้วตัวเล่า ตุ๊กตาแมวจากการปั้นของนางก็ถูกคนมาขอซื้อไปตลอดเวลา นางจึงเริ่มมีเงินทองจากการขายตุ๊กตาแมว และสามารถนำแมวเลี้ยงสุดที่รักของนางกลับมาเลี้ยงได้อีกครั้งหนึ่ง

ตั้งแต่นั้นมา ก็เลยเป็นที่ร่ำลือว่า แมวเป็นสัตว์นำโชค จึงมีการปั้นและวางแมวกวักไว้ตามที่ต่าง ๆ นับแต่นั้นมา" (ข้อมูลจาก http://th.wikipedia.org/wiki/แมวกวัก)

ถ้าบางคนสังเกต จะเห็นว่าแมวกวักของบางร้านนั้น บางตัวก็กวักมือขวา บางตัวก็กวักมือซ้าย ซึ่งมือข้างที่กวักนั้นมีความหมายต่างกันครับ

มือข้างซ้าย ใช้กวักเพื่อเรียกลูกค้า ถ้ายิ่งกวักสูงเท่าไหร่ก็ยิ่งเรียกลูกค้าได้มากเท่านั้น

มือข้างขวา ใช้กวักเพื่อเรียกโชคลาภและเงินทอง

ดังนั้น จึงมักจะเห็นแมวกวักมือซ้ายอยู่ที่หน้าร้านค้า ส่วนแมวกวักมือขวานั้นมักจะไว้กันตามบ้านหรือที่อยู่อาศัยครับ

บางคนอาจสงสัยว่าแล้วแมวกวักทั้งสองมือเลยล่ะมีไหม จะได้เรียกทั้งลูกค้าและเงินทองพร้อมๆกัน

ก็มีเหมือนกันครับ แต่ว่าไม่ค่อยเป็นที่นิยมนัก ลองนึกภาพตามนะครับ เวลาแมวยกมือทั้งสองขึ้นมาจะเป็นยังไง?

การยกสองมือพร้อมกัน หมายถึงการยอมแพ้หรือยอมจำนนนั่นเองครับ ซึ่งความหมายไม่ดีนัก จึงไม่เป็นที่นิยมนั่นเอง

ส่วนการกวักสลับมือไปมานั้น อันนี้ผมไม่ทราบครับ แหะๆ ^ ^" แต่น่าจะหมายถึงการตะเกียกตะกายหนีอะไรสักอย่าง ซึ่งก็ไม่ค่อยดีเหมือนกัน

สีของแมวกวักก็มีความสำคัญต่างกันไปครับ แต่ที่นิยมสุดก็คือแมวสามสี เพราะเชื่อว่าจะให้โชคลาภได้มากที่สุด

ดูๆไปแล้วก็ละม้ายคล้ายคลึงกับนางกวักของประเทศไทยเรา เพราะมีลักษณะกวักมือเพื่อเรียกลูกค้าเหมือนๆกัน

แต่ผมว่านะ แมวกวักของญี่ปุ่นคงไม่ชอบกินน้ำแดงเหมือนนางกวักของเราแน่ๆ > <"


การทักทายในช่วงกลางวันและกลางคืน


หลังจากตอนแรกที่เป็นการกล่าวทักทายในตอนเช้าผ่านไปแล้ว เราก็มาดูการทักทายในช่วงกลางวัน กับช่วงเย็นกันต่อเลยนะครับ

การทักทายในช่วงกลางวันนี้คนญี่ปุ่นจะพูดว่า こんにちは "คอนนิจิวะ" ส่วนมากมักพูดกันตั้งแต่เวลา 10:00 น. หรือช่วงสายเป็นต้นไปจนกระทั่งถึงช่วง 16:00 น. ตัวผมนั้นเมื่อตอนเด็กๆได้มีโอกาสได้พบกับเด็กญี่ปุ่นคนหนึ่งที่มาเที่ยวบ้านญาติ เธอชื่ออะไรผมก็ไม่รู้นะครับ แต่เรียกเธอว่า "มิจัง" ตามคุณพ่อของเธอ (แถมน่ารักด้วย โตมาตอนนี้คงสวยน่าดู ^ ^)

วันนั้นผมได้ไปกินข้าวเย็นที่บ้านญาติทีพ่อกับมิจังพักอยู่ ก่อนหน้านั้นผมพยายามไปฝึกภาษาญี่ปุ่นเพื่อพูดกับเขานะ แต่ด้วยความยังเด็ก ผมเลยจำได้คำเดียวว่า "คอนนิจิวะ" ที่แปลว่าสวัสดี ผมเลยเดินเข้าไปหามิจัง เพื่อที่จะทักทายเป็นภาษาญี่ปุ่นให้เธอตกใจเล่นๆ

"มิจัง คอนนิจิวะ" ผมเดินเข้าไปแล้วทักทายด้วยความมั่นใจอย่างเต็มที่
"คอนนิจิวะ...?" มิจังแปลกใจจริงๆครับ เธอทำตาโตเอียงคอเล็กน้อย หรือ "แอ๊บแบ๊ว" แบบที่สาวๆสมัยนี้ชอบทำกัน
"อื้ม คอนนิจิวะ" ผมพูดซ้ำอีกครั้ง
คราวนี้เธอเริ่มส่ายหน้าครับ แล้วพูดว่า "คอมบังวะ"
ผมเลยเป็นฝ่ายงงซะเองเพราะคิดว่าเธอจะพูด "คอนนิจิวะ" กลับมา กลับกลายเป็น "คอมบังวะ" ซะงั้น ผมเลยรู้สึกหน้าแตกซะงั้น เลยหลบๆออกมา
จนผมไปถามน้าของผมที่เป็นเพื่อนกับพ่อของมิจัง เขาเลยบอกว่า

こんばんは คอมบังวะ เป็นภาษาญี่ปุ่น ที่แปลเป็นไทยตรงๆว่า "สายัณห์สวัสดิ์" หรือสวัสดีตอนเย็นนั่นเอง เพราะตอนนั้นเป็นเวลา 6 โมงเย็น ซึ่งเริ่มค่ำแล้ว คนญี่ปุ่นเขาเลยทักทายกันว่า คอมบังวะ แทนที่จะเป็น คอนนิจิวะ นั่นเอง

แหม เล่นเอาหน้าแตกไปเลยทีเดียว อยากทักทายเขา แต่ไม่รู้เลยว่าเขามีทักทายกันเป็นช่วงเวลาด้วย ไม่เหมือนคนไทยที่ไม่ว่าจะช่วงไหนก็พูด สวัสดี ได้ตลอด

อ้อ แถมท้ายให้อีกคำครับ おやすみなさい "โอยาสุมินาไซ" คำนี้แปลว่า "ราตรีสวัสดิ์" ครับ เผื่อคุณจะเอาไว้บอกกับเพื่อนหรือแฟนหลังจากคุยโทรศัพท์เสร็จแล้วให้เขาแปลกใจเล่น ^ ^

สรุปคำศัพท์และความหมาย

おはよう ございます โอฮาโยว โกะไซมัส อรุณสวัสดิ์ ใช้ในช่วงเช้า


こんにちは คอนนิจิวะ สวัสดี ใช้ในช่วงสายถึงเย็น

こんばんは คอมบังวะ สวัสดีตอนเย็น ใช้ในช่วงเย็น ถึงค่ำ

おやすみなさい โอยาสุมินาไซ ราตรีสวัสดิ์

วันอาทิตย์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

ทักทายกันก่อนตามฉบับญี่ปุ่น



ก่อนอื่นก็ต้องขอกล่าวคำสวัสดีสำหรับทุกท่านที่กำลังเยี่ยมชม blog ของผมอยู่นะครับ





จุดประสงค์หลักๆของ blog นี้คือการสอนภาษาญี่ปุ่นและวัฒนธรรมของญี่ปุ่นผ่านอนิเมะนั่นเอง เนื่องจากตัวผู้เขียนเองก็ชอบดูอนิเมะเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เมื่อดูนานเข้าก็เลยสนใจศึกษาเรื่องของภาษาและวัฒนธรรมของญี่ปุ่น หวังว่าจะมีประโยชน์กับผู้เยี่ยมชมทุกท่านนะครับ





เอาล่ะ เกริ่นมาพอสมควรแล้ว งั้นเราไปเริ่มกันก่อนเลยนะครับ



การทักทายของคนญี่ปุ่นนั้นจะแบ่งออกได้เป็น 3 ช่วงใหญ่ๆครับ เริ่มกันที่ช่วงเช้าก่อนเลยนะครับ

おはよう ございます。 ประโยคนี้อ่านว่า "โอฮาโย โกะไซมัส" แปลได้ว่า "อรุณสวัสดิ์" นั่นเอง มักจะพูดทักทายกันเวลาเจอเพื่อนที่โรงเรียนหรือที่ทำงานในตอนเช้า แต่ว่าในความเป็นจริงแล้ว เวลาเราทักทายเพื่อน เราคงไม่ทักทายอย่างเป็นทางการว่า "อรุณสวัสดิ์" ใช่ไหมครับ เราก็คงทักทายว่า "สวัสดี" เฉยๆซึ่งทางคนญี่ปุ่นเองเขาก็มีการลดคำลงมาเหมือนกันครับ กลายเป็น おはよう "โอฮาโย" แต่ถ้าเป็นพวกผู้ชายที่สนิทกันจริงๆนั้นเขาจะลดรูปลงไปอีกจาก "โอฮาโย" กลายเป็น "โอ๊ส" เหมือนเวลาเราทักเพื่อนๆว่า "ไง" หรือ "ดี" แทนคำว่าสวัสดีนั่นเอง แต่ผู้หญิงเขาจะไม่พูดว่า "โอ๊ส" กันหรอกนะครับ เพราะว่าจะดูไม่เป็นกุลสตรี >_< ส่วนมากผู้หญิงเลยพูดกันแค่ "โอฮาโย" แค่นั้นครับ

ไว้คราวหน้าเราจะมาพูดถึงการทักทายอีก 2 ช่วงที่เหลือนะครับ